ศูนย์การศึกษาพิเศษ
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา

                    ตามแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ระยะที่ 6 (พ.ศ. 2530 – 2534) และระยะที่ 7 (พ.ศ.2536 - 2539) ที่ได้มุ่งขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา ดังนั้น เด็กพิเศษจึงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่รัฐต้องดำเนินการขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างรีบด่วน แต่ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กพิเศษ คือ การขาดแคลนบุคลากรด้านการศึกษาพิเศษ ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้กรมการฝึกหัดครู (สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ) ได้บรรจุงานการศึกษาพิเศษไว้ในแผนงานบริการวิชาการแก่สังคมและชุมชน โดยมีโครงการเฉพาะที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือ โครงการการศึกษาพิเศษในส่วนภูมิภาค วิทยาลัยครูนครราชสีมา (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา) จึงเป็นหนึ่งในจำนวน 5 แห่งที่ถูกกำหนดให้จัดตั้งเป็นศูนย์การศึกษาพิเศษขึ้นมา ตามโครงการศึกษาพิเศษของสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ

                    ปีงบประมาณ 2534 ในสมัยของ นายบัณฑิต วงษ์แก้ว ดำรงตำแหน่งอธิการสถาบันราชภัฎนครราชสีมา ได้เริ่มดำเนินงานด้านการศึกษาพิเศษเป็นครั้งแรก ตามนโยบายขยายการศึกษาพิเศษสู่ชนบทของสำนักงานสภาสถาบันราชภัฎนครราชสีมา

                    ปีงบประมาณ 2535 ได้ดำเนินการเปิดสอนในสาขาวิชาโทโปรแกรมการศึกษาพิเศษ ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี สายการศึกษาพิเศษ ทั้งภาคปกติและภาค กศ.บป.

                    ปีงบประมาณ 2536 ได้รับงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์การศึกษาพิเศษ จำนวน 11,930,000 บาท (สิบเอ็ดล้านเก้าแสนสามหมื่นบาทถ้วน) เป็นอาคารสูง 3 ชั้น ภายในได้ปรับสภาพให้เหมาะสมกับคนพิการประเภทต่างๆ เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้การศึกษา ฝึกปฏิบัติทั้งนักศึกษา สาขาโปรแกรมการศึกษาพิเศษ และใช้เตรียมความพร้อมให้แก่เด็กพิการทุกประเภท

                    ปีการศึกษา 2537 ได้เปิดทำการสอนนักศึกษา สาขาวิชาเอกโปรแกรมการศึกษาพิเศษ และดำเนินการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ ตามโครงการเรียนร่วมกับเด็กปกติในโรงเรียนสาธิต

                    ปีการศึกษา 2538 ได้ย้ายที่ทำการของศูนย์การศึกษาพิเศษจากอาคารสิงหราช ภายในบริเวณโรงเรียนสาธิตไปยังอาคารศูนย์การศึกษาพิเศษ และเริ่มรับเด็กพิเศษประเภทต่างๆ เข้าฝึกเตรียมความพร้อม และกระตุ้นพัฒนาการภายในศูนย์การศึกษาเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

                    ปีการศึกษา 2540 บุคลากรตามโครงการทุนการศึกษาในต่างประเทศ เริ่มกลับมาปฏิบัติงานด้านการศึกษาพิเศษ

                    ปีการศึกษา 2547 เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตการศึกษาพิเศษ เพื่อฝึกอบรมรู้แก่บุคลากรประจำการในสถานศึกษาของรัฐ ให้มีความรู้ด้านการศึกษาพิเศษ และเป็นแหล่งสังเกตเรียนรู้

                    ปีการศึกษา 2551 เปิดหน่วยบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการเรียนร่วมระดับอุดมศึกษา (DSS) เพื่อให้บริการแก่นักศึกษาพิการที่เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา

                    ปีการศึกษา 2552 ร่างแผนเพื่อเปิดหน่วยให้บริการผู้บกพร่องทางสติปัญญาเพื่อการดำรงชีวิตอิสระ เพื่อฝึกผู้ที่มีความต้องการพิเศษให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข และ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ได้รับคัดเลือกให้เป็นหน่วยงานสนับสนุนดีเด่น ของมหาวิทยาลัยและจัดให้เป็นหน่วยงานแสดง อัตลักษณ์ด้านการให้บริการของมหาวิทยาลัย

                    ปีการศึกษา 2558  หน่วยฝึกทักษะอาชีพเพื่อดำรงชีวิตอิสระ (Day Service Center) ได้จัดสอนหลักสูตรต่าง ๆ ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และเข้าถึงในการเรียนรู้ เช่น งานบ้าน การเกษตร การปั้น และขณะนี้ได้ขยายเป็นหลักสูตรด้านการขาย และด้านการประดิษฐ์หัตกรรม

วันที่เผยแพร่ 21 พฤศจิกายน 2561
ผู้เผยแพร่